เคยสงสัยกันมั้ย ว่าบางครั้งเราซ้อมหนัก ซ้อมนาน แต่ยังเล่นไม่ได้ซักที อาจเป็นเพราะเรากำลังซ้อมผิดอยู่ก็ได้นะ
Your Clef มีเทคนิคการซ้อมดีๆ มาฝาก สามารถใช้ได้ตั้งแต่นักดนตรีมือใหม่ จนถึงมืออาชีพเลยครับ
1. ซ้อมช้าๆ
ยิ่งเราต้องการเล่นได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งต้องซ้อมให้ช้าลงเท่านั้น เพราะการซ้อมช้าๆจะทำให้กล้ามเนื้อและสมองของเรา ค่อยๆทำความคุ้นเคยกับเพลงและตัวโน้ต ซ้อมให้ช้าและถูกต้อง เพราะการเล่นที่ช้าแต่แม่นยำย่อมดีกว่าการเล่นเร็วๆแต่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ยิ่งเล่นผิดตอนซ้อมเยอะเท่าไหร่ กล้ามเนื้อของเราก็จะจำสิ่งที่ผิดๆ จนติดเป็นนิสัย ในทางกลับกัน ถ้าเราซ้อมช้าและดี กล้ามเนื้อและสมองของเราก็จะจำในสิ่งที่ถูก และทำให้เราพัฒนาขึ้น!! เมื่อเล่นช้าๆอย่างแม่นยำแล้ว จึงค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้นจนถึงความเร็วที่เราต้องการครับ
2. ซ้อมกับ Metronome
หากจะบอกว่า metronome เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของนักดนตรีก็คงไม่เกินไปนัก เพราะไม่มีวิธีฝึกการเล่นให้ตรงจังหวะวิธีไหนที่ดีกว่าการเล่นกับ metronome อีกแล้ว
เปิด metronome ให้เป็นนิสัยทุกครั้งที่ซ้อม เริ่มจากจังหวะช้าๆและค่อยๆเร็วขึ้น แล้วการพัฒนาด้านจังหวะในการเล่นดนตรีของคุณจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วทีเดียวครับ
3. ซ้อมเจาะช่วงที่เล่นไม่ได้ของเพลง
การเล่นเพลงตั้งแต่ต้นจนจบวนไปเรื่อยๆ ทำให้เสียเวลาการซ้อมเป็นอย่างมาก และไม่ได้ช่วยให้เล่นดีขึ้น เราจึงควรซ้อมเจาะเป็นจุดๆ ในประโยคหรือห้องที่ยังเล่นไม่ได้ ฝึกจนคล่อง ค่อยๆผสมประโยคสั้นๆ และยาวขึ้น หลังจากนั้นถึงค่อยรวมทั้งเพลงเข้าด้วยกันนะครับ
4. แยกการซ้อมกับการเล่น
นักดนตรีหลายคนเข้าใจผิดว่าการเล่นไปเรื่อยๆคือการซ้อม แต่จริงๆแล้วการซ้อมกับการเล่นนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง!!! การเล่นคือการทำในสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว เล่นแล้วต้องรู้สึกว่ามันเพราะ เล่นแล้วสบายไม่เหนื่อย แต่การซ้อมนั้นคือการพยายามทำในสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี ซ้อมแล้วอาจจะฟังเป็นเพลงหรือไม่เป็นเพลงก็ได้
แยกและแบ่งเวลาการซ้อมกับการเล่นให้ชัดเจน เพื่อเราจะไม่ได้เสียเวลากับสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้วมากเกินไป แล้วมาโฟกัสกับสิ่งที่เรายังไม่เก่ง เราถึงจะพัฒนาครับ
5. การฝึกเทคนิคและ Ear Training นั้นจำเป็น
ถ้าอยากเก่ง อย่ามองข้ามการฝึกเทคนิคและ ear training เด็ดขาด!! ในระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นประโยชน์ของมันมากนัก แต่ในระยะยาวเทคนิคและ ear training มีประโยชน์มากๆ
ทั้งช่วยย่นเวลาซ้อมให้เร็วขึ้น แกะเพลงง่ายขึ้น เล่นเพราะขึ้น โดยเฉพาะนักดนตรีสาย POP หรือ Jazz ทักษะการฟังนั้นสำคัญพอๆกับทักษะการเล่นเลยทีเดียวครับ
6. ซ้อมสิ่งที่ยากและยังเล่นไม่ได้
ใครๆก็ชอบทำชอบเล่นอะไรที่เราทำได้ดี มันรู้สึกสบายและเหนื่อยน้อยกว่าการทำอะไรใหม่ๆ ยากๆ แต่ความสบายไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้น!! อย่าเอาแต่ซ้อมในสิ่งที่เล่นได้อยู่แล้ว หรือทำได้ดีแล้ว ใช้เวลาทบทวนสิ่งเหล่านั้นแค่นิดหน่อย แล้วซ้อมหรือหาความรู้ใหม่ๆ ฝึกสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่เคยรู้หรือยังทำไม่ได้ อาจจะรู้สึกลำบากในช่วงแรกๆแต่รับรองว่าผลที่ได้รับจะทำให้เราเก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตาเลยหละครับ
7. การฟังและดูดนตรีเยอะๆถือเป็นการซ้อม
ประสบการณ์และแรงบันดาลใจบางอย่างนั้น หาไม่ได้จากการนั่งซ้อมดนตรีอยู่ที่บ้านครับ หมั่นออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้ตัวเองเพื่อจุดไฟในการซ้อม ออกไปดูว่านักดนตรีคนอื่นๆ เค้าเก่งกันขนาดไหนแล้ว หรือแม้แต่การลงแข่งหรือประกวดดนตรี ก็เป็นวิธีการที่ดีที่จะกดดันและวัดระดับตัวเองว่าเราไปได้ไกลขนาดไหนแล้วครับ
8. อย่ากลัวที่จะ มั่ว
บางครั้งการยึดติดกับทฤษฎีมากเกินไป ก็ทำให้เราไม่กล้าที่จะทดลองหรือค้นหาอะไรใหม่ๆ การลองผิดลองถูกจึงเป็นอีกวิธีที่จะค้นหาแนวทางและตัวตนหรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราครับ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องหัดที่จะมั่วแบบมีสติ อะไรที่มั่วแล้วออกมาไม่ดีไม่ดีก็ทิ้งมันไป อะไรที่มั่วแล้วออกมาดีก็เก็บไปใช้ มั่วสิบอย่าง เอาไปใช้ได้อย่างเดียวก็เก่งแล้วครับ
ปล. ส่วนตัวแนะนำให้ทดลองมั่วเฉพาะตอนซ้อมนะครับ เวลาเล่นจริง เล่นสิ่งที่ซ้อมมาอย่างดีดีกว่าครับอย่าเสี่ยง
9. กล้ารับฟังคำตำหนิ
ท่องไว้เสมอครับ คำชมไม่ทำให้เราเก่งขึ้น คำด่าต่างหากที่ทำให้เราเก่งขึ้น เวลาที่ถูกด่าหรือวิจารณ์อย่าโกรธเลยครับ ยิ่งเป็นคำวิจารณ์จากนักดนตรีที่มีประสบการณ์มากกว่ายิ่งมีค่าครับ อาจจะเจ็บปวดบ้าง เสียเซลฟ์บ้าง ไม่เป็นไรครับ เอาคำวิจารณ์นั้นกลับมาพัฒนาตัวเองให้ได้
แล้วเราจะเป็นนักดนตรีที่ดีขึ้นแน่นอนครับ
10. ซ้อมให้หนักและอย่าล้มเลิกความพยายาม
สุดท้าย ซ้อมให้หนักเข้าไว้ครับ การเล่นดนตรีนั้น พรสวรรค์ไม่มีทางสู้พรแสวงได้เลยครับ ซ้อมให้เยอะอย่างมีคุณภาพยังไงก็เก่งขึ้นแน่นอนครับ